1.ความผิดหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท (ขึ้นศาลจังหวัด)
ส่วนศาลแขวงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท คดียอมความได้
ข้อยกเว้น มาตรา 329 /มาตรา 330
มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ความผิดตามพรบ.คอมฯ
ส่วนใหญ่ฟ้องตาม มาตรา 14 (1) (4) (5) กรณีลงข้อความอันเป็นเท็จในสื่อโซเชียลทุกแพลทฟอร์ม
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ขึ้นศาลจังหวัด)
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
คดี พรบ. คอม ยอมความไม่ได้
คำถาม หากมีคดีที่ลงในสื่อโซเชียลเป็นข้อความเท็จ หมิ่น เช่น ลงในเฟสบุ๊กว่า เราขี้โกง โกงเงินประชาชนเป็นแชร์ลูกโซ่ หรือฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ เป็นต้น เราจะฟ้องเป็นคดีอะไร
วิธีพิจารณาก่อนฟ้องคดี
1.หากฟ้องคดีหมิ่นด้วยการโฆษณา
โจทก์ต้องพิสูจน์2 ข้อ
1)ข้อความนั้นเป็น ข้อความที่หมิ่นประมาทหรือไม่ หรือเป็นข้อความเท็จ ทำให้เสียหาย ส่วนคำด่าทอ หรือผรุสวาจา ไม่ถือว่าเป็นคำหมิ่นประมาท
2)ข้อความหมิ่นประมาทนั้น ทำให้โจทก์เสียหายอย่างไร
จำเลยสู้ว่า
1.ข้อความดังกล่าวเป็นความจริง/ข้อความนั้นไม่เป็นการหมิ่นประมาท
2.ไม่ได้หมิ่นประมาทตัวโจทก์ พูดลอยๆไม่ได้เจาะจงว่าเป็นตัวโจทก์
3.โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายอย่างใด หรือโจทก์พิสูจน์ความเสียหายไม่ได้
4.หรือจำเลยเป็นสื่อมวลชน ติชมด้วยความเป็นธรรมเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
ผล คือ จำเลยมีข้อต่อสู้หลายประเด็น โอกาสยกฟ้องสูง คดีหมิ่นประมาท โดยปกติ หากพบว่ากระทำความผิดตามฟ้อง และกระทำความผิดครั้งแรก ศาลจะจำรอ และปรับเท่านั้น
ข้อเสีย คือ โทษน้อย โอกาสยกฟ้องสูง หรือจำรอ สูง จำเลยมีข้อต่อสู้มาก โดยเฉพาะหากเป็นนักข่าว ติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ส่วนคดีตาม พรบ คอมฯ
โจทก์พิสูจน์ เพียงว่า ข้อมูลที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นข้อมูลเท็จเท่านั้น ส่วนความเสียหายไม่จำต้องเกิด และไม่ต้องพิสูจน์ เพียงแต่เข้าโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ก็ครบองค์ประกอบความผิด ตาม มาตรา 16 (1) แล้ว
ส่วนจำเลย ต้องพิสูจน์ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความจริงเท่านั้น จะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พรบ.คอมฯ
ผล คือ ศาลมักจะลงโทษจำคุก ไม่มีรอลงอาญา แต่บางคดีรับสารภาพ ศาลจำคุก 1 ปี ต่อหนึ่งกระทง และบางคดีก็รอลงอาญา และปรับจำนวนแสนบาท ขึ้นอยู่กับความร้ายแรง และผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์
สรุป หากมีการหมิ่นประมาท หรือลงข้อความเท็จลงในระบบคอมพิวเตอร์ หรือสื่อโซเชี่ยลทุกแพลทฟอร์ม เราควรฟ้องตาม พรบ.คอม น่าจะดีกว่า ตามเหตุผลข้างต้น จนกว่าจะมีการแก้ไข พรบ.คอมฯ มาตรา 14 เสียก่อน